jump to navigation

Wolfram Alpha แนวทางใหม่สำหรับการหาข้อมูลออนไลน์ จริงหรือ พฤษภาคม 13, 2009

Posted by ekarinv in Technology Focus.
trackback

ตอนนี้ในวงการคนออนไลน์ มีการพูดถึงเวบไซท์แห่งใหม่ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Wolfram Alpha ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 18 พ.ค. 52 จากคำแถลงการของโฆษกของเวบไซท์

คงมีหลาย ๆ คนถามว่าเจ้าเวบที่ว่านี้มันหน้าตาเป็นอย่างไร คำตอบง่าย ๆ ก็คือ คล้าย ๆ กับ Google หรือ Ask นั่นแหละ คือมีหน้าแรกแบบง่าย ๆ เป็นแผนที่โลก แล้วก็มีช่องให้ใส่คำถาม หรือ สิ่งที่ต้องการทราบลงไป แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือกระบวนการในการหาคำตอบ และวิเคราะห์คำถาม รวมถึงการแสดงผลของการวิเคราะห์ หรือคำนวณ ซึ่งต่างไปจากผู้นำในวงการอย่าง Google หรือ Ask ไปอย่างสิ้นเชิง วิธีการของ Wolfram Alpha ก็คือทำตัวเหมือนเครื่องคำนวณ รับคำสั่งจากที่เราใส่เข้าไป วิเคราะห์หาคำตอบในแง่มุมต่าง ๆ ถึงแม้คำถามนั่นจะไม่มีคีร์เวิร์ดถูกโพสไว้บนเวบไซท์ใด ๆ มาก่อน ฟังแค่นี้ผมคิดว่าพวกเราหลาย ๆ คนคงงง กับมัน ผมว่าคงจะง่ายขึ้นถ้ายกตัวอย่างซักหน่อย

สมมุติว่าคุณเป็นนักลงทุน และคุณต้องการทราบการแข่งขันในตลาดระหว่าง 2 บริษัท เช่นระหว่าง IBM กับ Apple เราอาจพิมพ์คำว่า IBM versus Apple ลงไป และสิ่งที่ Wolfram Alpha จะสร้างขึ้นมาก็คือกราฟ และ ตารางเปรียบเทียบทั้งปริมาณ และ ราคาหุ้นย้อนหลัง แถมยังให้ข้อมูลกับคุณถึงแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาพล๊อตในกราฟ ว่ามาจากเวบไซท์ไหน

เวบไซท์นี้ยังมีแนวโน้มว่าจะสามารถแก้สมการ หรือแสดงวิธีในการแก้สมการเป็นขั้นตอนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเด็กมัธยม และคนที่เรียนคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น การประมวลผลตัวอักษรมันก็ยังทำได้ดีไม่แพ้แก้สมการ ตัวอย่างเช่นถ้าเราอยู่บ้านใกล้ทะเล และต้องการทราบเวลาน้ำขึ้น น้ำลง เราก็แค่พิมพ์ว่า tides in pattaya สิ่งที่เราจะได้ก็คือ ชาร์ตแสดงถึงการขึ้นลงของน้ำ และการโคจรของดวงจันทร์ ที่มีผลต่อน้ำขึ้น น้ำลงในเขตพัทยา ถ้าเป็นคนรักกีฬาทางน้ำ คงจะเป็นเวบไซท์ที่น่าสนใจทีเดียวนะครับ

นอกจากนั้นมันยังสามารถวิเคราห์คำถาม แล้วแสดงผลเชิงสถิติได้อีกด้วย เช่น เราพิมพ์ Internet users in Bangkok คุณก็จะได้จำนวนของผู้ใช้เวบในกรุงเทพ ว่ามีกี่ล้านคน และรายชื่อ หรือกราฟที่แสดงจำนวนผู้ใช้ในแต่ละภูมิภาค หรือถ้าคุณอยู่ในธุรกิจประมงค์ เราเพียงแต่พิมพ์ว่า fish produced in Italy versus France แค่นี้ สิ่งที่เราจะได้ก็คือ ข้อมูลททางเทคนิค เช่น จำนวนปลา จำนวนฟาร์ม จำนวนที่จับ เทียบกับที่เพาะได้จำแนกตามชนิด ซึ่งสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้ทันที

ยิ่งฟังก็ดูเหลือเชื่อ แต่ว่าทั้ง CNET และ New York Times ได้กล่าวถึงเวบไซท์นี้ไว้พอสมควรว่าจะเปลี่ยนกระบวนการที่เราใช้ในการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ทไปพอสมควรทีเดียว

แต่สิ่งที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ Stephen Wolfram ผู้ก่อตั้งเวบไซท์แห่งนี้ สาธยายให้ฟังในวีดีโอเปิดตัวของเวบไซท์ของเขา หลาย ๆ คนอาจไม่คุ้นกับชื่อเขาแต่ถ้าบอกว่าเขาเป็นผู้เขียนโปรแกรม Mathematica คนที่อยู่ในวงการวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ คงต้องร้องอ๋อแน่ ๆ ก่อนหน้านี้ CNN ได้ลองใช้เวบไซท์ก่อนที่จะเปิดตัวจริง ๆ ก็ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก และยังมีปัญหาที่ต้องแก่อีกมาก นักวิจารณ์หลาย ๆ คน เช่น ผู้เขียนประจำที่ Harvardbusiness.org ก็กล่าวว่ายังไงซะ Google + Wikipedia นั้นย่อมให้ผลที่ดีกว่า แต่คาดว่าถ้ามีผู้เชียวชาญช่วยกันระดมข้อมูล และแนวทางการวิเคราห์ให้กับ Wolfram Alpha เหมือนกับที่ช่วยอัพเดทข้อมูลใน Wiki แล้ว สักวันหนึ่ง มันก็น่าจะเป็นเครื่องมือในการหาข้อมูลที่ดีได้ แต่ปัญหาคือ แล้วมันจะเริ่มกันตรงไหน เพราะโครงสร้างนั้นต่างจาก Wikipedia ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันที

ความเห็น»

No comments yet — be the first.

ใส่ความเห็น